คำถามที่เจอบ่อยมากก่อนเริ่มดำเนินการก่อสร้าง คือ เรื่องถมที่ โดยเฉพาะคนที่เพิ่งซื้อที่ดินได้ไม่นานและต้องรีบสร้างบ้านทันที มักกังวลว่าว่าถ้าที่ดินเพิ่งถมได้ไม่นานแล้วสร้างบ้านเลยจะสามารถทำได้มั้ย บ้านจะทรุดมั้ย หรือจะมีปัญหาอะไรหรือปล่าว
ก่อนอื่นต้องขอขยายความเรื่อง “การถมที่เพื่อสร้างบ้าน”ดังนี้ การถมที่สร้างบ้าน ส่วนมากมีสาเหตุจากที่ดินอยู่ต่ำกว่าระดับถนน อาจเป็นแอ่งน้ำหรือบ่อน้ำเก่าหรือว่าต้องการให้บ้านที่จะสร้างสูงกว่าระดับถนนหรือระดับพื้นดินเดิม ปกติตอนเราถมดินช่วงแรกๆ ถมเท่าไหร่ก็ได้เท่านั้น แต่พอเวลาผ่านไป ดินจะค่อยๆยุบตัว บางทีอาจเหลือไม่ถึงครึ่งของที่ถมไว้ และการทรุดตัวหลังการถมนี่เอง ที่เป็นที่มาของความกังวลสงสัย ว่าเราควรจะสร้างบ้านทันทีภายหลังการถมดินหรือไม่ ซึ่งคำตอบมีทั้งสร้างได้-และไม่ควรสร้าง
คำตอบแรก เราสามารถสร้างบ้านทันทีหลังการถมดินก็ได้ ถ้าบ้านหลังนั้นสร้างอยู่บนฐานรากที่มีเสาเข็มเป็นส่วนรองรับโครงสร้าง (โดยวิศวกรโครงสร้างที่ออกแบบได้คำนวณการรับน้ำหนักโดยผ่านเสาเข็ม) ไม่ได้อาศัยดินถมเป็นส่วนรับน้ำหนักของโครงสร้าง แต่ถ้าเลือกวิธีนี้ เจ้าของบ้านจะต้องยอมรับว่า จะต้องเกิดการทรุดตัวของดินรอบๆบ้าน และเปอร์เซ็นต์การทรุดตัวจะมากกว่าบ้านที่สร้างโดยการถมดินไว้นานๆ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องถมดินเพิ่มเติมภายหลัง เพื่อให้ได้ระดับตามต้องการ
นอกจากดินรอบบ้านอาจทรุดแล้ว ท่อระบายน้ำรอบบ้านอาจทรุดได้ด้วย แต่ก็มีวิธีป้องกัน นั่นคือ ทำระบบท่อระบายน้ำไว้ในตอนท้ายของการก่อสร้าง (เพราะกว่าที่จะสร้างโครงสร้างและส่วนต่างๆ ของตัวบ้านเสร็จ ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร ดินที่ถมก็จะทรุดตัวไปแล้ว) และหากมีการบดอัดที่ใต้ระบบท่อระบายน้ำให้ดี ก็จะช่วยป้องกันการทรุดตัวของระบบท่อได้
ส่วนคำตอบว่าไม่ควรสร้างบ้านทันทีที่ถมดินเสร็จ เพราะว่าบางครั้งบ้านได้ถูกออกแบบให้สร้างด้วยระบบให้ดินเป็นส่วนรับน้ำหนักไม่ใช่เสาเข็ม เช่น ที่ภาคเหนือ หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือในบางพื้นที่ ซึ่งพื้นใต้ดินเดิมมีความแน่นพอที่จะรับน้ำหนักของโครงสร้างได้ ดังนั้น วิศวกรที่ออกแบบโครงสร้างอาจจะออกแบบให้การรับน้ำหนักของฐานรากเป็นแบบฐานรากแผ่ เพื่อกระจายน้ำหนักลงสู่ดินโดยตรง
ถ้าดินต่ำและเจ้าของต้องการให้ตัวบ้านสูง ก็ต้องถมดิน ซึ่งกรณีนี้จะต้องถมไว้นานจนให้ดินทรุดตัวจนแน่นก่อนถึงจะก่อสร้างได้ หรือต้องขุดดินจนถึงระดับดินแข็งเพื่อทำฐาน
คำตอบ ที่ว่าไม่ควรสร้างบ้านภายหลังถมที่ใหม่ๆ ก็เนื่องจากว่าดินจะยังมีการทรุดตัว ถ้าเป็นการสร้างบ้านบนฐานรากแผ่และดินเกิดการทรุดตัว ซึ่งอาจจะทรุดตัวในแต่ละจุดไม่เท่ากัน ก็จะทำให้โครงสร้างมีปัญหา สาเหตุที่คนส่วนใหญ่บอกว่าไม่ควรสร้างบนดินที่ถมใหม่ การสืบเนื่องมาจากเมื่อก่อนคนไทยสร้างบ้านโดยไม่มีเสาเข็ม แต่ใช้ฐานแผ่เป็นฐานรองรับเสาเรือนดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันการทรุดตัวของบ้านที่สร้าง จึงกำหนดกันว่าไม่ควรสร้างบ้านบนพื้นดินที่ถมใหม่ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องเช่นกัน
ฐานรากแผ่ คือ ฐานของอาคารที่อาศัยการรับน้ำหนักของดินต่อพื้นผิวของฐานราก ตัวอย่าง เช่นน้ำหนักที่เสาตอม่อเท่ากับ 30 ตัน และดินมีคุณสมบัติการรับน้ำหนักได้ 5 ตัน/ตร.ม. ดังนั้นพื้นที่ของฐานรากแผ่จะต้องเท่ากับ 30/5 = 6 ตร.ม.สำหรับการรับน้ำหนัก ส่วนความหนาของฐานรากว่าจะเป็นเท่าไร ต้องมีการคำนวณโดยวิศวกรโครงสร้าง
ถมดินเสร็จ สร้างบ้านเลย อาจต้องเจอ • ดินรอบบ้านทรุดตัว ต้องคอยถมดินเพิ่ม ให้ได้ระดับตามต้องการ • ท่อระบายน้ำรอบบ้านอาจทรุดด้วย วิธีป้องกัน คือ
ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก https://www.home.co.th/hometips/topic-14028
เราสร้างฝันเพื่อคน อยากมี บ้าน
บริการให้คำปรึกษาด้านการออกแบบและการก่อสร้างบ้าน อาคารสำนักงาน อาคารพาณิชย์ อาคารทุกประเภท
โดยทีมงานสถาปนิก และควบคุมการก่อสร้างโดยวิศวกรมืออาชีพ